อ่างเก็บน้ำยางชุม อีกหนึ่งน้ำพระทัยของพ่อหลวงของปวงชาวไทย
คงไม่มีที่ใดที่สายพระเนตรพ่อหลวงของปวงชาวไทย จะทอดไปไม่ถึง และไม่ว่าราษฎรของพระองค์จะอยู่ไกลสักเพียงใด น้ำพระทัยของพระองค์ก็จะไหลรินไปชโลมปราบทุกข์เข็ญของปวงราษฎร์อย่างทั่วถึงเช่นกัน ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันนี้เกษตรกรไทยทุกหมู่เหล่าสามารถทำมาหากินบนแผ่นดินไทยได้อย่างมีความสุข โครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำยางชุม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการ ของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ย้อนหลังไปประมาณ 50 ปี พื้นที่ในตำบลหาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยังคงเป็นพื้นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สีชมพูที่มีการตรวจพบกลุ่มผู้การร้าย แต่สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และมักจะเผชิญกับน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อนอย่างหนัก จวบจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 กรมชลประทานได้พิจารณาก่อสร้างฝายทดน้ำกุยบุรีขึ้นที่อำเภอกุยบุรี ปิดกั้นแม่น้ำกุยบุรีเพื่อทดน้ำส่งให้พื้นที่เพาะปลูกชายฝั่งซ้ายของแม่น้ำกุยบุรี ซึ่งมีจำนวน 15,300 ไร่ แต่ด้วยแม่น้ำกุยบุรีจะมีน้ำไหลเฉพาะช่วงที่มีฝนตก ส่วนในฤดูแล้งนั้นไม่สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ กรมชลประทานจึงได้พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรีตัดผ่านแม่น้ำกุยบุรีและลำน้ำต่างๆ ทำให้เกิดอุทกภัยสร้างความเสียหายอย่างงต่อเนื่องให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอกุยบุรีและบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ดังนั้นในปี พ.ศ.2516 กรมชลประทานจึงได้พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำยางชุมขึ้น เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ปัญหาภัยแล้ง เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนผลักดันน้ำเค็มในคลองกุย โดยดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2523
แม้อ่างเก็บน้ำยางชุมจะก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งก็ยังไม่หมดไป เนื่องจากอ่างเก็บน้ำที่ก่อสร้างขึ้นนั้นสามารถรับน้ำได้เพียง 32 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
10 มิถุนายน 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานพระราชทานดำริว่าควรหาทางขยายปริมาณกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุม โดยมีพระราชดำรัสขอให้ทหารและจังหวัดร่วมมือกับชลประทานพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาตามแนวพระราชดำริ
ก็ต้องสร้างเขื่อนให้เก็บน้ำ ดีขึ้นอย่างมากที่สุดก็ขึ้น 2 เมตร ก็นับว่าดีจะได้น้ำเพิ่มเติม 9 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็นับว่าไม่เลว มันไม่มาก สู้ที่อื่นไม่ได้ ไม่มากดีกว่าไม่มี ความจริงควรจะมีอย่างนี้ทั่วตลอด ให้สามารถที่จะเก็บน้ำแล้วป้องกันไม่ให้น้ำท่วมตอนหน้าฝนหรือมีพายุเข้ามา ไม่ให้น้ำแล้งให้มีน้ำให้สำหรับการกสิกรรมหรือการบริโภค....

กรมชลประทาน ได้พิจารณาว่า ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุมให้เก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น และสามารถระบายออกด้านท้ายอ่างเก็บน้ำได้ โดยไม่เกิดอันตรายต่อโครงสร้างของอ่างและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดนั้น กระทำได้โดยการเพิ่มระดับการเก็บกักน้ำขึ้นอีก 2 เมตร และเพิ่มความสูงของเขื่อนขึ้นอีก 3 เมตร ซึ่งจะทำให้ได้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 9.10 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิม 32 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 41.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นนี้จะสามารถนำไปบริหารจัดการให้กับเกษตรกรในอำเภอกุยบุรีได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก เกษตรกรรม อุปโภค-บริโภค และจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานจาก 15,300 ไร่ เป็น 20,300 ไร่ รวมถึงจะแก้ปัญหาอุทกภัยซ้ำซากในอำเภอกุยบุรีได้
 ในการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำยางชุมครั้งนี้ ใช้เวลาเกือบ 2 ปี ทุกขั้นตอนในการเพิ่มระดับกักเก็บน้ำเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรื้อสันดินเดิมออกเพื่อผสมดินเก่าและดินใหม่ให้เข้ากัน ไม่เกิดรอยแตกแยก จึงเชื่อมั่นได้ว่า แม้จะเพิ่มสันดินขึ้นไปอีก 2 เมตร แต่ความแข็งแรงก็ยังคงมีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพ ล่าสุดขณะนี้ปริมาณน้ำที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำยางชุม มีอยู่เต็มปริมาณกักเก็บ คือ 41.0 ล้านลูกบาศก์เมตร ในส่วนของน้ำที่ไหลเข้ามาเพิ่มจะล้นออกสู่ทางระบายน้ำล้น หรือสปิลเวย์ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ

ทุกๆวันเกษตรกรในหมู่บ้านหาดขาม ตำบลยางชุม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่างก็จับจอบ แบกเสียมออกไปทำสวนทำไร่กันอย่างหน้าชื่นตาบาน ไม่ต้องกังวลอีกต่อไปว่าจะไม่มีน้ำ ทั้งนี้ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่ทรงเป็นห่วงพสกนิกรชาวไทย ชาวกุยบุรีจะยังคงซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ พระผู้เป็นพ่อที่รักลูกไปอีกตราบนานแสนนาน |